สงสัยกันไหมคะว่า ทำไมที่นอนในท้องตลาดถึงมีเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ราคาในระดับหลักพันต้นๆถึงเป็นแสนก็มี บางตัวหน้าตาดีมาก ผ้าหรูหรา แต่ลองนอนแล้วไม่ใช่ บางตัวหน้าตาธรรมดาแต่นอนแล้วสบายถูกใจ หรือบางรุ่นหน้าตาต่างกันมาก แต่ลองนอนแล้วเอ๊ะทำไมสัมผัสเหมือนกันจัง การเลือกที่นอนก็เหมือนกับคนเรา รู้หน้าไม่รู้ใจ ต้องเข้ามาคุยมาทำความรู้จักจึงจะรู้ถึงเนื้อใน ใช่แล้วค่ะ สื่งที่สำคัญที่สุดคือโครงสร้างที่นอนไม่ใช่ผ้าหุ้มด้านนอก แม้ที่นอนจะมีเป็นร้อยเป็นพัน แต่โครงสร้างหลักๆแล้ว สามารถแบ่งประเภทได้คือ แบบยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และสปริง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าที่นอนแบบไหนถึงเหมาะกับการนอนของตัวเอง รวมถึง “ที่นอนยางพารา” ที่เค้าว่ากันว่าดีนักดีหนา ดีจริงไหม แล้วจะเหมาะกับคุณหรือเปล่า วันนี้ทาง “วิจิตรภัณฑ์” ขอนำเสนอบทความเพื่อช่วยให้คุณได้เข้าใจโลกของที่นอนมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

 

                “ที่นอนที่ดี” คือที่นอนที่ได้ลองนอนแล้วรู้สึกดี ไม่ปวดหลัง นอนหลับสนิท หลับสบายตลอดคืน ที่นอนที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงที่สุด เช่นเดียวกันกับที่นอนที่แย่ที่สุดก็ไม่ใช่ที่นอนที่ถูกที่สุดเสมอไป ที่นอนที่ดีที่สุดมีคุณเป็นผู้กำหนด ตามสรีระการนอนและงบประมาณของแต่ละคน ตัวบ่งชี้คุณสมบัติของที่นอนคือวัสดุหลักในการทำที่นอนนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าวัสดุแต่ละชนิดมีมูลค่าไม่เท่ากัน จึงทำให้ราคาของที่นอนในแต่ละรุ่นนั้นแตกต่างกัน เราสามารถแบ่งประเภทวัสดุหลักๆออกได้เป็นดังนี้

 

  • 1. ยางธรรมชาติ หรือที่นอน “ยางพารา”แท้นั้น ด้วยคุณสมบัติของยางพาราที่มีความยืดหยุ่น ให้ความคืนตัวสูง ทำให้กระจายน้ำหนักได้ดีในเวลานอน จะพลิกตัวก็ไม่แข็งกระด้างหลังหรือนุ่มจมจนเกินไป นอนสบาย ถูกใจหลายๆคน “ที่นอนยางพารา” แท้ นั้นมี 2 แบบ คือ 1. ยางพาราแบบฉีดขึ้นรูป และ 2. ยางพาราแบบอัด ซึ่งแบบแรกจะให้ความนุ่มและคืนตัวดีกว่ามาก เกิดจากการนำน้ำยางไปปั่นหล่อหรือฉีดขึ้นรูปเป็นทรงที่นอน โดยภายในมีโพรงระบายอากาศเล็กๆระดับที่ตาเรามองไม่เห็นจำนวนมาก ด้วยยางพาราแท้ที่มีความหนืดและโพรงเล็กๆเหล่านี้ช่วยทำให้ที่นอนมีความยืดหยุ่น รองรับการกระจายตัวของน้ำหนักได้ดี ส่วนที่นอนยางพาราแบบอัดนั้นคือการนำชิ้นส่วนยางพาราที่ได้จากการขึ้นรูปไปบดอัดโดยใช้แรงดันสูง ทำให้โพรงระบายอากาศหายไป สัมผัสที่ได้จะรู้สึกแน่นกว่าแต่ยังคงความหนึบและยืดหยุ่นตามธรรมชาติของยางพาราแท้ ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาทำให้ที่นอน “ยางพาราแท้” เป็นที่นอนสุขภาพ เพราะช่วยกระจายน้ำหนัก ลดแรงกดทับเวลานอน ทำให้ไม่ปวดเมื่อยหลัง รับแรงกระแทกหรือน้ำหนักผู้นอนได้ดี ใช้งานได้ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามที่นอนชนิดนี้จัดว่ามีราคาค่อนข้างสูงในท้องตลาด และมีปัญหาในการขนย้ายด้วยน้ำหนักที่มากและที่นอนยางพาราไม่สามารถตั้งตรงได้ด้วยคุณสมบัติในการยืดหยุ่นและคืนตัวสูงนั่นเอง จึงมีการใช้วัสดุสังเคราะห์อื่นๆที่ให้คุณสมบัติใกล้เคียงกับ “ยางพาราแท้” มาใช้ในการผลิตที่นอน
  •  
  • 2. ยางสังเคราะห์ คือการนำวัสดุที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีมาขึ้นรูปทำเป็นที่นอนเลียนแบบยางธรรมชาติ อันได้แก่
  • – ฟองน้ำอัด คือการใช้ชิ้นส่วนฟองน้ำวิทยาศาสตร์มาบีบอัดด้วยแรงดันสูงกลายเป็นก้อนที่นอน ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่นอนยางพาราแท้แบบอัดมาก ให้ความคงทน สัมผัสแน่น ทนทาน ไม่มีการยุบตัวหรือจมเวลาพลิกตัว แผ่นหลังเหยียดตรงไม่งองุ้ม อาจจะให้ความรู้สึกที่แน่นกว่ายางพาราแท้ เพราะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า แต่ไม่แข็งกระด้างหลัง ทั้งยังราคาถูกกว่า และน้ำหนักเบากว่า ตัวที่นอนสามารถตั้งตรงได้ สะดวกในการขนย้ายมากกว่า ฟองน้ำอัดจึงถือว่าเป็นวัสดุอย่างดีในการทำที่นอนเพื่อสุขภาพชนิดนึง
  •  
  • – Polyethylene foam หรือที่เรียกกันว่า PE foam เป็นวัสดุสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีความเหนียว และความคงตัวค่อนข้างสูง อีกทั้งยังราคาถูกและน้ำหนักเบามาก จึงนิยมนำมาเป็นวัตถุดิบที่ในการผลิตที่นอน ซึ่งที่นอน PE foam นี้จะให้สัมผัสที่แน่น ค่อนไปทางแข็ง คุณสมบัติในการยืดหยุ่นหรือคืนตัวต่ำ หากผู้ใช้มีน้ำหนักเยอะหรือตัวที่นอนผ่านการใช้งานเป็นเวลานาน อาจเกิดแอ่งหรือการยุบตัวของที่นอนได้ การทำที่นอน PE foam จึงมีการเสริมชั้นวัสดุอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของที่นอน เช่น การเสริมชั้นฟองน้ำอัดที่ช่วยให้ความแข็งแรง หรือ การเสริมฟองน้ำที่ช่วยสร้างสัมผัสที่นุ่มมากขึ้นให้กับที่นอน PE foam
  •  
  • – PU foam (Polyurethane foam) เป็นวัสดุโฟมที่มีความยืดหยุ่นและคืนตัวสูงมาก ให้สัมผัสที่นุ่มแน่น และเมื่อกดน้ำหนักลงไป ตัว PU foam จะยุบตัวลงเล็กน้อยตามแรงกระทำของน้ำหนัก แต่จะคืนตัวตามสภาพเดิมเมื่อไม่มีแรงกระทำ PU foam จึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตที่นอนเช่น เป็นโครงสร้างเสริมบนที่นอนฟองน้ำอัด ที่นอนยางพาราหรือที่นอนสปริง เพื่อให้ที่นอนมีความนุ่มมากยิ่งขึ้น PU foam ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลักของที่นอนด้วยเหตุผลที่ว่ามีความหนาแน่นต่ำเมื่อเทียบกับวัสดุทำที่นอนชนิดอื่นๆ ถึงแม้จะมีความยืดหยุ่นสูงและคืนตัวตามสภาพเดิมได้ดี แต่หากทิ้งน้ำหนักตัวลงบนที่นอนก็จะรู้สึกจม อาจทำให้ปวดหลังได้
  •  
  • 3. สปริง คือการนำขดสปริงจำนวนมากมาต่อกันเป็นโครงสร้างหลักของที่นอน ด้วยคุณสมบัติของสปริงคือมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อมีแรงกระทำจากน้ำหนักสปริงสามารถยืดตัวได้ดีกว่าที่นอนที่ไม่ใช่สปริง ทำให้เมื่อได้นอนที่สปริงแล้วรู้สึกไม่แน่นเท่าที่นอนยางพาราอัดหรือที่นอนฟองน้ำอัด สปริงแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆได้ 2 ชนิด
  •  
  • – สปริงแบบบอลเนล เป็นขดสปริงที่มีส่วนหัวและส่วนท้ายขนาดใหญ่กว่าลำตัว คล้ายรูปทรงนาฬิกาทราย สปริงชนิดนี้มีความยืดหยุ่นพอสมควรและรับน้ำหนักได้ดีในระดับหนึ่ง ให้สัมผัสการนอนที่แน่น แต่ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป และด้วยราคาที่ไม่สูงมาก ทำให้กลายเป็นวัสดุยอดนิยมที่ใช้ในการผลิตที่นอน โดยมาตรฐานจะมีความหนาของสปริงอยู่ที่ 2.3 มม. ในการผลิตที่นอนจะนำลูกสปริงบอลเนลจำนวนมากมายึดต่อกันแบบต่อเนื่องเพื่อทำเป็นฐานโครงหลักของที่นอนและเพื่อไม่ให้สปริงล้มได้ง่าย ซึ่งเมื่อมีการทิ้งน้ำหนักลงบนที่นอน โครงต่อเนื่องของสปริงที่เหนี่ยวรั้งกั้นเช่นนี้ จะส่งต่อแรงจากลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่งเพื่อกระจายน้ำหนัก ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เป็นผลให้เมื่อมีการลุกหรือนอนแล้วคนข้างๆจะรู้สึกตัวเวลานอน และหากมีการกระโดดหรือกระแทกแรงๆจนทำให้ลูกสปริงตัวใดตัวหนึ่งหักหรือหลุดหลวมจากโครงสร้าง จะทำให้ลูกสปริงตัวอื่นๆล้มตามเป็นผลให้ที่นอนเกิดการยุบตัว ดังนั้นที่นอนสปริงแบบบอลเนลจึงไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็กหรือผู้ที่มีน้ำหนักมาก เพราะโอกาสเกิดสปริงหักหรือหลวมมีสูง หรือควรเลือกที่นอนสปริงบอลเนล ที่มีการซ้อนด้วยโครงสร้างเสริมอื่นๆเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และสัมผัสของที่นอนให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น
  •  
  • – สปริงแบบพ็อคเก็ต คือการนำขดสปริงชนิดที่มีความยืดหยุ่นสูง มาใส่ในถุงผ้าเย็บต่อกันเป็นโครงที่นอน เมื่อมีแรงกระทำหรือน้ำหนักกดลงบนที่นอน ลูกสปริงแต่ละตัวจะเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เกิดเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่ได้รับแรงกระทำ ไม่เกิดแรงเสียดทาน เป็นผลทำให้แรงสั่นสะเทือนแทบจะไม่มีหรือมีน้อยมากๆ เราจึงไม่รู้สึกตัวเมื่อมีการขยับหรือพลิกตัวระหว่างนอน ด้วยคุณสมบัติความยืดหยุ่นสูงของสปริงแบบพ็อคเก็ต ทำให้มีการใช้งานที่ทนทานกว่า และให้สัมผัสที่นุ่มสบายกว่า แต่ก็มีราคาที่สูงมากกว่าสปริงแบบบอลเนล
 

จะเห็นได้ว่าที่นอนแต่ละตัวนั้นให้สัมผัสแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากวัสดุหลักในการนำมาผลิตโครงสร้างที่นอน ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถแบ่งหลักๆได้ 3 ชนิด คือ 1. แบบยางพาราแท้ 2. แบบยางสังเคราะห์  และ 3. แบบมีสปริง ซึ่งในแต่ละแบบก็สามารถแบ่งตามรายละเอียดปลีกย่อยได้หลายชนิด และในแต่ละชนิดก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้งาน ความต้องการของผู้ใช้ และงบประมาณ

ผู้ซื้อจึงควรรู้ข้อมูลความต้องการเบื้องต้นเพื่อนำมาเลือก “ที่นอนที่ดีที่สุด” สำหรับตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะที่นอนเป็นสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน คุณภาพในการนอนนั้นมีความสำคัญมาก สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพร่างกายและสุขภาพจริงในแต่ละวันได้เลย หากยังไม่แน่ใจว่าที่นอนแบบไหนเหมาะกับคุณ คุยและบอกเล่ากับ “วิจิตรภัณฑ์” ได้เลยนะคะ ผู้เชี่ยวชาญของเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเลือก “ที่นอนที่ดีที่สุด” ให้กับคุณ